กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก
พลาสติกรีไซเคิลบางประเภท ก็ไม่อนุญาตนำมาทำบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารสืบเนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 435 ( พ.ศ.2565) เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก ได้มีการอนุญาตให้สามารถใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล (Recycled plastic) ได้แต่ยังคงมีเงื่อนไขการอนุญาต สำหรับพลาสติกที่เป็นการรีไซเคิลแบบทุติยภูมิ คือ อนุญาตเฉพาะชนิด PET เท่านั้น
ประเภทภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลแตกต่างกันอย่างไร ?
ประเภทที่ 1 การแปรใช้ใหม่แบบปฐมภูมิ (Primary recycling) หมายถึง การแปรรูปชิ้นส่วนพลาสติกหรือเศษพลาสติก (scrap) ภายในโรงงาน ซึ่งเหลือจากกระบวนการผลิต แล้วนำมาหมุนเวียนกลับมาผลิตใหม่ โดยชิ้นส่วนพลาสติกหรือเศษพลาสติกดังกล่าวต้องไม่เคยใช้สัมผัสอาหารมาก่อน พลาสติก Primary recycling จึงอนุญาตพลาสติกทุกชนิดที่กำหนดในประกาศ 435 (เช่น PE , PP ,PVC ,PC ,PET เป็นต้น)
ประเภทที่ 2 การแปรใช้ใหม่แบบทุติยภูมิ (Secondary recycling) หมายถึง การแปรรูปภาชนะพลาสติกที่ผ่านการบรรจุอาหารแล้วด้วยวิธีทางกายภาพ/วิธีทางกล (เช่น การนำพลาสติกมาบด ล้างและอาจใช้สารเคมีในการปรับปรุงคุณภาพ) แล้วหลอมอัดเป็นเม็ดพลาสติก เพื่อใช้ทำเป็นภาชนะบรรจุ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องไม่ให้โครงสร้างพื้นฐานของพอลิเมอร์เปลี่ยนแปลง
พลาสติก Secondary recycling อนุญาตพลาสติก PET เท่านั้น ต้องมีรายงานการประเมินประสิทธิภาพของประบวนการรีไซเคิลตามหลักเกณฑ์ที่ อย. กำหนด หรือ ผ่านการรับรองตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต้องมี
ประเภทที่ 3 การแปรใช้ใหม่แบบตติยภูมิ (Tertiary recycling) หมายถึง การแปรรูปภาชนะพลาสติกที่ผ่านการบรรจุอาหารแล้วให้กลับไปอยู่ในรูปของวัสดุตั้งต้น โดยใช้กระบวนการทางเคมี ใช้ปฏิกิริยา Depolymerization ทำให้ Plastic กลายเป็น มอนอเมอร์ (กระบวนการสามารถขจัดการปนเปื้อนที่มากับวัตถุดิบทำให้ได้มอนอเมอร์บริสุทธิ์) แล้วนำมอนอเมอร์มาผ่านกระบวนการ Repolymerizationได้เป็น Resin พลาสติก Tertiary recycling จึงอนุญาตพลาสติกทุกชนิดที่กำหนดในประกาศ 435 (เช่น PE , PP , PVC ,PC ,PET เป็นต้น)
สิ่งที่ต้องมีในฐานะผู้ผลิตอาหาร หากมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก สิ่งที่ต้องตรวจสอบ
1. ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก ใช้พลาสติก Recycle หรือไม่?
2. ถ้ามีการใช้พลาสติก Recycle แล้วใช้แบบใด (Primary recycling หรือ Secondary recycling หรือ Tertiary recycling)
3. ถ้ามีการใช้พลาสติก Secondary recycling เป็นพลาสติกที่ได้รับอนุญาต (PET) หรือไม่
4. บรรจุภัณฑ์พลาสติก Recycle มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 435 (พ.ศ.2565) เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก.
https://food.fda.moph.go.th/food-law/category/fda-announcement/